แนะนำสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มฟล.

เนื่องในโอกาสที่สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มีอายุครบ ๕ ปี ในปี ๒๕๖๐ จึงเป็นการสมควรที่จะได้มีโอกาสแนะนำโรงเรียนทันตแพทย์ในพื้นที่ภูมิภาค เขตภาคเหนือตอนบนให้เป็นที่รู้จักแก่ผู้ที่สนใจ และด้วยหวังให้ปรากฏเป็นหลักฐานต่อไปจึงได้นำข้อมูลที่มีบันทึกจากแหล่งต่างๆมาเรียบเรียงเพื่อนำเสนอ
(จากเรื่องราวที่ปรากฏในหนังสือ: ๑.บันทึกความทรงจำ วันชัย ศิริชนะ กว่าจะถึงดอยแง่มมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง๒๕๕๘ จากเรื่องราวที่ปรากฏใน2 หนังสือที่ระลึก สัมมนาวิชาการเนื่องในวาระครบรอบ ๕ ปี สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, ๒๒-๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๐)

 

 

นับย้อนไปกว่า ๑๘ ปีการก่อสร้างมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้เริ่มขึ้น ณ ดอยแง่ม ต.ท่าสุด อ.เมือง จ.เชียงราย บนพื้นที่ประมาณห้าพันไร่ ที่ได้รับอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรีในขณะที่มีพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ถือได้ว่าเป็นการเข้ามารักษาสมบัติของแผ่นดิน เป็นการคืนพื้นที่ผืนนี้ให้กลับมาตกอยู่ในมือของแผ่นดิน คือ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อการใช้ประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างถาวร เพราะก่อนหน้านั้นแผ่นดินผืนนี้เคยถูกครอบครองโดยไม่ถูกต้องจากผู้บุกรุกที่มาจากต่างที่หลากหลาย บางส่วนเป็นพื้นที่ป่าสงวนที่ถูกบุกรุก บางส่วนเป็นที่ สปก. บางส่วนเป็นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ บางส่วนอาจมีโฉนดหรือใบแสดงการครอบครองอยู่บ้าง ซึ่งเป็นจำนวนน้อย หากไม่ได้มาสร้างมหาวิทยาลัยไว้ตรงนี้ที่ดินผืนนี้ก็คงจะถูกยึดครองและเปลี่ยนมือไป โดยผู้ไม่สมควรได้รับสิทธิ์อีกเป็นจำนวนมาก

ท่านอธิการบดี รศ.ดร. วันชัย ศิริชนะ ผู้ก่อตั้งฯ เล่าว่าความคิดในการออกแบบขณะนั้นต้องการให้ยังคงรูปแบบที่เป็นล้านนาประยุกต์ มีพื้นที่ใช้สอยครบถ้วน คำนึงถึงการประหยัดพลังงานและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของการใช้พื้นที่ รวมทั้งให้ความสำคัญกับงานภูมิสถาปัตย์ ที่มุ่งเน้นให้รักษาลักษณะภูมิประเทศเดิมไว้ให้มากที่สุด นอกจากนี้ ยังวางกรอบแนวคิดไว้ว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้จะเป็น University in the Park เพื่อเดินตามรอยพระราชปณิธาน “ปลูกป่า สร้างคน” ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ ๙ การปลูกต้นไม้ในพื้นที่รกร้างว่างเปล่าทั้งมหาวิทยาลัยจึงเริ่มตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาบุกเบิกและจับจองพื้นที่ ซึ่งเดิมนั้นได้ถูกแผ้วถางทำลายไปเกือบจะหมดสิ้น โดยได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ ๙ ในการปลูกป่ามาประยุกต์ใช้โดยครบถ้วนบริเวณดอยแง่มจึงพลิกฟื้นคืนสภาพเป็นผืนป่าแห่งใหม่พร้อมไปกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม และการยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนผู้ยากไร้ ด้วยการพัฒนาทางด้านการศึกษาและอาชีพ1

ณ ที่ใจกลางพื้นที่ของมหาวิทยาลัยยังได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ ๙ ให้ประดิษฐานพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีไว้เป็นศูนย์รวมใจของชาวมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และชาวไทยทั้งปวงอย่างสมพระเกียรติ

เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ท่านอธิการบดี รศ.ดร. วันชัย ศิริชนะมีความฝันสำคัญคือ อยากมีโอกาสสร้างมหาวิทยาลัยดีๆ ให้กับบ้านเมือง อยากให้มหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นสามารถแก้ปัญหาของสังคมได้ อยากมองเห็นว่ามหาวิทยาลัยสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคมในทุกด้าน อยากให้ทั่วโลกยอมรับว่ามหาวิทยาลัยไทยมีคุณภาพ อยากให้มีนักศึกษาต่างชาติมาเรียนในประเทศไทยมากๆ อยากให้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการสร้างมิตรและสันติภาพกับประเทศเพื่อนบ้าน อยากเห็นเด็กไทยมีโอกาสที่จะเข้ารับการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีคุณภาพ อยากเห็นว่าคนจนก็มีสิทธิ์ที่จะเรียนมหาวิทยาลัยได้

ด้วยความหวังจะให้แม่ฟ้าหลวงเป็น World University คือ มหาวิทยาลัยที่สามารถผลิตคนที่มีความรู้ความสามารถออกไปรับใช้สังคมโลกได้ในทุกวัฒนธรรมอย่างมีคุณภาพและเมื่อมหาวิทยาลัยสามารถสร้างคนเก่งคนดีได้แล้วการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำทางด้านการวิจัยก็จะตามมาอย่างแน่นอน แต่ในเบื้องต้นต้องสร้างคนที่มีคุณภาพไว้ก่อน

ท่านเห็นว่าสิ่งที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงสามารถทำได้เร็วและดึงความสนใจคนทั้งประเทศได้ คือ การสร้างมหาวิทยาลัยที่มีรูปลักษณ์ที่สวยงาม มีภูมิทัศน์ที่แปลกตา มีความงดงามตามธรรมชาติ มีหลักสูตรที่น่าสนใจ ดังนั้น ในระยะแรกเริ่มมหาวิทยาลัยจึงทุ่มเทกับการพัฒนาสภาพแวดล้อมและภูมิทัศน์ให้สวยงาม แล้วนำออกเผยแพร่ให้สาธารณชนได้พบเห็นและรู้จัก จึงเกิดความประทับใจและกล่าวขานทั่วไปว่ามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สวย น่าไปเที่ยว น่าไปอยู่ ร่วมไปกับความพยายามสร้างและพัฒนา จุดแข็งและจุดขายทั้งด้านวิชาการและบริการสู่สังคม

ท่านตระหนักดีว่าในระยะยาวแล้ว ความมีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย ย่อมเกิดจากความเข้มแข็งของวิชาการ ความมีคุณภาพของบัณฑิต งานวิจัยที่นำไปประยุกต์ใช้ได้คุณภาพการบริการและเข้าถึงประชาชน การนำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม การเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคม รวมถึงการเข้าไปมีบทบาทในการพัฒนาประเทศ

จุดแข็งที่ได้กลายเป็นจุดขายหนึ่งในเวลานี้ก็คือการที่ท่านอธิการบดี วันชัย ศิริชนะ ดำริให้นำภาษาจีนเข้ามาสอนในมหาวิทยาลัยอย่างจริงจังแต่แรกเริ่ม ด้วยมองเห็นว่าจีนจะมีบทบาทสำคัญต่อโลก จนเป็นผลให้ ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้รับการยอมรับว่ามีความเป็นเลิศทางด้านการสอนเกี่ยวกับจีน ทั้งทางด้านภาษาวัฒนธรรม จีนธุรกิจ ล่ามและการแปล การสอนภาษาจีน และจีนศึกษา โดยมีนักศึกษาที่เรียนเต็มเวลามากที่สุด และมีอาจารย์ภาษาจีนมากที่สุด

รวมทั้งได้ริเริ่มใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการสอนหลักของมหาวิทยาลัยด้วยความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาเรื่องความอ่อนด้อยเรื่องภาษาของนักศึกษามาแต่แรกเริ่มท่ามกลางปัญหาและอุปสรรคมากมายในระยะเริ่มแรก

โดยเจตนาที่จะให้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติ โดยไม่จำเป็นต้องมีคำว่า International University ปรากฏอยู่ แต่จะเป็นนานาชาติด้วยความสามารถและชื่อเสียงของตนเอง และมุ่งหวังจะให้มีนักเรียนอย่างน้อยก็ในกลุ่มอนุภาคลุ่มน้ำโขงทุกประเทศมาเรียนที่นี่ในเบื้องต้น และจากทั่วโลกในโอกาสต่อไป1
แนวทางวิสัยทัศน์ ของท่านจึงสอดคล้องกับคำสามคำนี้ คือ New – Different – Better

สู่ความเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์แห่งลุ่มน้ำโขง

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้จัดตั้งสำนักวิชาแพทยศาสตร์ และสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ ซึ่งได้เตรียมการมานานได้สำเร็จท่ามกลางอุปสรรคต่างๆ นานา จนได้เห็นนักศึกษารุ่นแรกของทั้งสองสำนักวิชาที่มาจากทุกจังหวัดในภาคเหนือของประเทศไทยในระบบโควต้า และอีกส่วนหนึ่งมาจากทั่วประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างกลุ่มอาคารศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งจะเป็นศูนย์การศึกษาทางการแพทย์และทันตแพทย์ และพยาบาล รวมทั้งวิทยาศาสตร์สุขภาพสาขาต่างๆ ที่คาดว่าจะเปิดทำการในปี พ.ศ.๒๕๖๑

ทั้งนี้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มีความมุ่งมั่นที่จะเปิดสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์มาตั้งแต่แรกเริ่มและได้เตรียมการมาอย่างต่อเนื่องและถือกำเนิดขึ้นเมื่อ วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๕ โดยในเบื้องต้นได้เชิญรศ.ทพ.สัมพันธ์ ศรีสุวรรณ และคณะมาเป็นผู้ยกร่างแผนการจัดตั้งและเตรียมการด้านต่างๆ และได้ทำหน้าที่เป็นคณบดีคนแรก ตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ได้เตรียมการด้านต่างๆ จนพร้อมเปิดดำเนินการรับนักศึกษารุ่นแรก แต่ท่านคณบดี.สัมพันธ์ ศรีสุวรรณ ได้ถึงแก่กรรมโดยกะทันหันจึงได้ขอให้ รศ.ทพ.ทะนง ฉัตรอุทัย มาเป็นคณบดีคนที่ ๒ และได้ดำเนินการรับนักศึกษารุ่น๑รุ่น๒และรุ่น๓ตามลำดับ

ท่านคณบดี ทะนง ฉัตรอุทัย2ผู้ร่วมงานกับท่านอาจารย์ สัมพันธ์ได้บันทึกไว้ว่า “เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี “พระมารดาแห่งการทันตแพทย์ไทย” ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ด้วยโอกาสที่อยู่พื้นที่ห่างไกล และพระราชปณิธาน “ให้ปวงประชามีฟันดี” โดยมุ่งผลิตทันตแพทย์เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนทันตแพทย์ที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยให้กับประชาชนเขตภาคเหนือตอนบนและภูมิภาค

โดยมุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความรู้พื้นฐาน ประกอบด้วยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานทางคลินิก และวิจัยทางทันตกรรม สามารถนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์การประกอบวิชาชีพทันตกรรมอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ

เป็นบัณฑิตที่มีทักษะทางวิชาชีพ โดยผ่านเกณฑ์การประเมินการประกอบโรคศิลปะ สาขาทันตกรรม มีความเชี่ยวชาญในการวินิจฉัย การวางแผนการรักษาและรักษา การติดตามและประเมินผลการรักษา ตลอดจนการสร้างเสริม การดูแลสุขภาพในช่องปากขั้นพื้นฐานได้เป็นอย่างดี

มีจิตอาสา มีความรู้ มีคุณภาพ มีคุณธรรมเพื่อสังคม

ด้วยพันธกิจคือจัดการศึกษาที่มุ่งผลิตบัณฑิตทันตแพทย์ ค้นคว้า วิจัย เพื่อแก้ไขปัญหา และพัฒนาความรู้ใหม่มหาวิทยาลัยมีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะผลักดันให้สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็นโรงเรียนทันตแพทย์ที่ดีที่สุดอีกแห่งหนึ่งของประเทศ

ท่านอาจารย์ อุทัยวรรณ2ได้บันทึกไว้ว่า “เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วได้มีผู้เข้ามาเป็นกำลังสำคัญในกรรมการประจำหลักสูตรฯอีกหลายท่านหลายวาระ อาทิ ผศ.ทพญ.สุมิตรา พงษ์ศิริ รศ.ทพญ.ประไพ สัลละพันธ์ รศ.ทพ.ดร.สุวิทย์ อุดมพานิช ผศ.ทพญ.ดร.วิไลรัตน์ วรภมร ทำให้เราสามารถปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรให้พัฒนายิ่งขึ้นเป็นลำดับ”

ต่อมารองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ทะนง ฉัตรอุทัยได้ลาออกไป และมหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งให้อาจารย์ ทันตแพทย์ ดร.ณรงค์ ลุมพิกานนท์ มารับตำแหน่งคณบดีเป็นคนที่ ๓ จนถึงปัจจุบัน2
ท่านอาจารย์.อุทัยวรรณ ได้เขียนไว้2“ผมได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติทั้งในฐานะครู มิตรและศิษย์ อย่างเป็นรูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจน” คือการออกแบบหลักสูตรให้สนองพระราชปณิธานก็คือการกำหนดให้มีวิชาชีวิต ชื่อ “รายวิชาการพัฒนาคุณภาพนักศึกษาด้วยกิจกรรม” เริ่มตั้งแต่การเรียนรู้ของนักศึกษาทันตแพทย์ในชั้นปีที่ ๑ จนถึงชั้นปีที่ ๕ เพื่อให้นักศึกษาทันตแพทย์มีจิตสำนึกและตระหนักในคุณค่าความเป็นมนุษย์ ตระหนักในคุณค่าของวิชาชีพ มีคุณธรรมจริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม และมีทักษะชีวิตในการครองตน ครองคน และครองงาน

สำนักวิชามีกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้ลงมือทำและสะท้อนความคิดในสิ่งที่ทำลงไป (Active learning) ด้วยการให้นักศึกษาเรียนรู้ในชั้นเรียนที่มีการเรียนการสอนทางไกลจากคณาจารย์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในศาลาประชาคม ในวัด ใต้ร่มไม้ในชุมชนร่วมกับครูชาวบ้าน ในโรงพยาบาลชุมชน ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ (รพสต.) กับครูพี่เลี้ยงทันตแพทย์และครูพี่เลี้ยงสาธารณสุข ในห้องเรียนกลับทาง (Flipped Classroom)และใน Google Classroom ด้วยการริเริ่มจัดกิจกรรมการทำงานการเรียนการสอนเป็นทีม โดยให้นักศึกษาแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง จากการค้นคว้าร่วมกันเป็นทีมในเรื่องการทำงานด้วยจิตสาธารณะ การบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยจัดกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ให้นักศึกษานำเอาสิ่งที่ตนเองได้ค้นคว้าเกี่ยวกับ การทำงานด้วยจิตสาธารณะ หรือการบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวมมาระดมความคิด วางแผนจัดกิจกรรมที่เน้นการมีส่วนร่วมในการทำงานด้วยจิตสาธารณะ และ ทดลองนำแผนงานไปดำเนินการร่วมกันเป็นทีม ตลอดจนถอดบทเรียน ประเมินผลจัดการเรียนรู้และรายงานผลของการทำงานร่วมกันเป็นทีม

ปัจจุบันมีนักศึกษา ๔ ชั้นปี จำนวนรุ่นละประมาณ ๒๘-๓๒ คน ที่ต้องใช้อาคารเรียนชั่วคราวที่ตึก M3 ในส่วน main campus ขณะนี้อาคารถาวรของสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ อยู่ระหว่างการตกแต่งภายในและเตรียมความพร้อม ซึ่งคาดว่าจะเสร็จประมาณต้นปี พ.ศ. ๒๕๖๑

มุ่งหน้าสู่อนาคต

ด้วยวิสัยทัศน์ “New, Better and Different” และโอกาสที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงตั้งอยู่บริเวณลุ่มน้ำโขงตอนบนของประเทศไทย มีประชาชนที่ประกอบไปด้วยหลากหลายชาติพันธุ์ ทางสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจึงมีแนวคิดที่จะดำเนินการเรียนการสอนโดยให้นักศึกษาได้ลงพื้นที่จริงในชุมชนใกล้เคียง เพื่อให้เขาเข้าใจบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของผู้เข้ามารับการรักษา และให้การรักษาในรูปแบบของการรักษาองค์รวม (Holistic health care) ที่ความสัมพันธ์ระหว่างทันตแพทย์ ผู้ป่วย ครอบครัวและชุมชน เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ได้จบลงเพียงแค่การรักษาโรคเสร็จสิ้นหรือผู้ป่วยหายจากโรคเท่านั้น แต่การดูแลรักษายังคงดำเนินไปต่อเนื่อง ผสมผสานกับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในช่องปาก ทางสำนักวิชาฯ ยังมีความมุ่งหวังที่จะผลิตบัณฑิตทันตแพทย์ที่มีทักษะการสื่อสาร มีความเข้าใจในผู้อื่นและให้การดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ ดังคำกล่าวของ Sir William Osler (1904) ที่ว่า “It’s much more important to know what sort of a patient that has a disease, than what sort of a disease a patient has.” ซึ่งจะเกิดขึ้นภายใต้การเรียนการสอนในรูปแบบ transformative learning เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสมและสัมฤทธิ์ผลสูงสุดต่อไป

ที่สำคัญเรามีข้อได้เปรียบที่มีการเรียน และกิจกรรม การอยู่ร่วมกันของนักศึกษาวิทยาศาสตร์การแพทย์ในชั้นปีต้นๆ ทำให้เขามีความเป็นมิตรและร่วมงาน กิจกรรมเป็นทีม ก้าวต่อไปจึงเป็นโอกาสที่จะส่งเสริม และพัฒนาการเรียน และประสบการณ์ แบบ inter-professional education (IPE) รวมทั้งการผสมผสานการทำงานเป็นทีมสุขภาพในพื้นที่ชุมชน แบบ District Health Education ที่จะสนองต่อความต้องการของประเทศต่อไป